ประวัติความเป็นมา


สวนสัตว์อุบลราชธานี ชื่อเดิม อุทยานสัตว์ป่าอุบลราชธานี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงฟ้าห่วน เลขที่ 112 หมู่ 17 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานีมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,217 ไร่ โดยองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ (ดงฟ้าห่วน) จากกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2540 (ระยะเวลา 30 ปี) หลังจากนั้นก็ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างสวนสัตว์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมาโดยวางรูปแบบของสวนสัตว์อุบลให้เป็น Jungle Park นั่นคือ การนำสวนสัตว์เข้ามาผสมผสานกับความสมบูรณ์ของป่าไม้ภายในพื้นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์วิจัยและขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายากและการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อว่า "สวนสัตว์อุบลราชธานี" เป็นต้นมา

เมื่อการก่อสร้างต่างๆ เริ่มแล้วเสร็จกลางปี 2555 ก็ได้มีการวางแผนนำสัตว์บางชนิดเข้ามา เพื่อให้เคยชินกับสภาพพื้นที่ กระทั่ง ในช่วงประมาณวันที่ 16 กันยายน 2555 สวนสัตว์อุบลราชธานี ได้นำสัตว์ชนิดแรกเข้ามาจัดแสดง คือ สัตว์ตระกูลกวางพันธุ์ไทย เช่น กวางป่า เก้ง ละอง-ละมั่ง และสัตว์ตระกูลกวางพันธุ์ต่างประเทศ คือ แบล็คบัค เนื้อทราย กวางซิก้า บาราซิงค์ และได้นำสัตว์ชนิดอื่นๆ เข้ามาจัดแสดงตามสภาพผืนป่าภายในสวนสัตว์ คือ สัตว์กลุ่มนักล่า คือ เสือโคร่ง เสือขาว สิงโตขาว สิงโตแอฟริกา กลุ่มสัตว์ทุ่งแอฟริกา คือ ยีราฟ ม้าลาย นกกระจอกเทศ ไนอาล่า และอีแลนด์ เรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2556 มีการสร้างส่วนจัดแสดงสัตว์ขนาดเล็ก หรือเรียกว่า มินิซู กลุ่มสัตว์ขนาดเล็กที่จัดแสดง คือ จิงโจ้แดง เมียร์แคท หมีขอ จระเข้ไคแมน

สวนสัตว์อุบลราชธานี เริ่มทดลองเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 และได้เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 โดยได้รับเกียรติจากรองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ นายประยุทธ นาวาเจริญ เป็นประธานในพิธีเปิด ในขณะนั้น

ปี 2561 สวนสัตว์อุบลราชธานี มีส่วนจัดแสดงสัตว์ที่เปิดให้บริการให้นักท่องเที่ยวได้ชม มีจำนวนทั้งหมด 12 ส่วนจัดแสดง ประกอบด้วย

ส่วนจัดแสดงสัตว์กีบไทย
ส่วนจัดแสดงสัตว์กีบต่างประเทศ
ส่วนจัดแสดงสิงโตแอฟริกา
ส่วนจัดแสดงสิงโต
ส่วนจัดแสดงเสือโคร่งขาว
ส่วนจัดแสดงเสือโคร่งอินโดจีน
ส่วนจัดแสดงจระเข้น้ำจืด
ส่วนจัดแสดงเสือดำ-ดาว
ส่วนจัดแสดงสัตว์แอฟริกา
ส่วนจัดแสดงสัตว์ขนาดเล็ก (มินิซู)
ส่วนจัดแสดงม้า

สวนสัตว์อุบลราชธานี ไม่เพียงให้บริการชมสัตว์อย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังให้บริการความรู้ด้านอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ กิจกรรมโครงการแผนงานนำนักเรียนเข้าเรียนรู้ในสวนสัตว์ ที่เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ภายในสวนสัตว์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทกิจกรรมคือ กิจกรรมประเภทไป – กลับ 1 วัน และ กิจกรรมประเภทค่ายพักแรม 2 วัน 1 คืน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายการศึกษา 084 831 9311 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง16.30 น. ยังมีอาคารสถานที่ศูนย์สัมมนาดงฟ้าห่วน ที่เปิดต้อนรับหน่วยงานต่างๆ เข้ามาใช้บริการสำหรับ ประชุม อบรม สัมมนา หรือทำกิจกรรมต่างๆ อีกด้วยสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายรายได้ ธุรกิจและสารสนเทศ 093 320 9369 ได้ทุกวัน

โครงการ อพ.สธ. สวนสัตว์อุบลราชธานี
องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) ได้สนองพระราชดำริฯ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ในปีงบประมาณ ๒๕๕๖ ได้นำพื้นที่อุทยานสัตว์ป่าอุบลราชธานี (สวนสัตว์อุบลราชธานี) ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เนื้อที่ ๑,๒๑๗ ไร่ เข้าร่วมสนองพระราชดำริ อพ.สธ. โดยเริ่มโครงการสำรวจทรัพยาการกายภาพและชีวภาพในพื้นที่ เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. โดยการสำรวจในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช อพ.สธ. - อสส. สวนสัตว์อุบลราชธานี เนื้อที่ ๑๒๐ ไร่ และพื้นที่สำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชอพ.สธ. - อสส. สวนสัตว์อุบลราชธานี โดยเริ่มการสำรวจทรัพยากรกายภาพและชีวภาพในพื้นที่ พื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช แบ่งเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็น ๓ เส้นทางประกอบด้วย

เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ ๑ ระยะทาง ๓๑๘ เมตร
เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ ๒ ระยะทาง ๗๔๐ เมตร
เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ ๓ ระยะทาง ๑,๔๖๔ เมตร

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สวนสัตว์อุบลราชธานี ให้ความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

๒. เพื่อเป็นแหล่งปกปักพันธุกรรมพืชและฐานข้อมูลของพันธุกรรมพืชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

๓. เป็นแหล่งศึกษาสภาพนิเวศวิทยาที่เป็นลักษณะเฉพาะของป่าตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง สามารถใช้ข้อมูลในการศึกษาในการวางแผนจัดการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช รวมตลอดทั้งกิจกรรมในการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชได้ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ๔. เพื่อเป็นการสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานตามเป้าหมานหลัก

๔ ประการขององค์การสวนสัตว์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสวนสัตว์อุบลราชธานี คือ การอนุรักษ์สัตว์ป่า การศึกษวิจัยทางด้านสัตว์ป่า การให้การศึกษาและ การเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่มีคุณค่าแก่ประเทศชาติและประชาชน

ทั้งนี้สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

เว็บไซต์ http://www.ubon.zoothailand.org
ฝ่ายรายได้ ธุรกิจและสารสนเทศ 093 320 9369
ฝ่ายการศึกษา 084 831 9311


เรียบเรียงโดย นายสุวัฒนา นันทวิเชียร หัวหน้างานส่งเสริมการศึกษาในระบบ ฝ่ายการศึกษา สวนสัตว์อุบลราชธานี

replica watches1:1 best edition replica watches高仿手表