“รู้หรือไม่” ละมั่งมี 3 ชนิดย่อย คือ 1. Rucervus eldii eldii พบในรัฐมณีปุระ ของสาธารณรัฐอินเดีย 2. Rucervus eldii thamin พบในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ตัวใหญ่กว่าพันธุ์ Rucervus eldii eldii 3. Rucervus eldii siamensis พบในราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐประชาชนจีน, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีเขาแตกกิ่งมากที่สุด ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ใน พ.ศ. 2387 เพื่อเป็นเกียรติแก่ ร้อยโท เพอร์ซี เอลด์ (Lt. Percy Eld) นายทหารชาวอังกฤษ ที่ค้นพบละมั่งครั้งแรก ที่รัฐมณีปุระ สาธารณรัฐอินเดีย ละอง และละมั่ง เป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน ละอง คือ ตัวผู้ ละมั่ง คือ ตัวเมีย บางครั้งชาวบ้านก็เรียกทั้งตัวผู้และตัวเมียว่า ละมั่ง ละมั่งเป็นกวางขนาดกลาง ลำตัวยาว หัวใหญ่ ลำคอเรียวยาว ขาเรียวยาว ขนกลางสันหลังสีดำ มีขนสีขาวรอบหู ตา และคาง ลำคอยาว และท้อง ในฤดูร้อนขนมีสีน้ำตาลแดง ใบหูใหญ่ ในฤดูหนาวจะเปลี่ยนสีขนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ตัวผู้ขนสีเข้มกว่าตัวเมียเล็กน้อย ขนหยาบ และมีแผงคอขนยาวหนารอบคอ ละมั่งตัวผู้มีเขาโค้งยาวไปด้านหลัง แล้วตีวงม้วนมาด้านหน้า มีลักษณะคล้ายคันธนูหรือพิณ บางตัวเขายาว ประมาณ 2 เมตร มีกิ่งสั้น ๆ ที่ปลายเขา ปลายเขาด้านหลังจะกลม (ซึ่งจะต่างจากพันธุ์ Rucervus eldii siamensis ที่ปลายเขาแบน) ส่วนใหญ่มี 12 กิ่ง กิ่งคู่หน้าปลายแหลมตรงเรียกว่า “กิ่งรับหมา (Brow tine)” ยาวมาก ผลัดเขาปีละครั้ง เขาจะโตเต็มที่เมื่ออยู่ในฤดูผสมพันธุ์ ตัวเมียตัวเล็กกว่าตัวผู้ และไม่มีเขา ละมั่งพันธุ์พม่ามีฟัน 34 ซี่
พบในทวีปเอเชีย ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และราชอาณาจักรไทย มักอาศัยตามป่าเต็งรัง (ที่มีต้นพลวงเป็นหลัก) ป่าโปร่ง หรือทุ่งหญ้าใกล้แหล่งน้ำ ตัวผู้มักอาศัยตามลำพัง จะเข้ารวมฝูงเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้มีพื้นที่อาศัย (Home ranges) ประมาณ 5,600 ไร่ ตัวเมียมีพื้นที่อาศัย (Home ranges) 4,400 ไร่ และอยู่ในพื้นที่ของตัวผู้
เป็นสัตว์กินพืช กินพืชน้ำ หญ้า ยอดไม้ และมักกินดินโป่ง
อยู่รวมเป็นฝูง ประมาณ 5–6 ตัว บางครั้งอาจรวมเป็นฝูงใหญ่ประมาณ 50 ตัว ออกหากินช่วงเช้าและเย็น กลางวันมักจะนอนพักใต้ร่มไม้ บางครั้งตัวผู้อาจลงแช่ปลักบ้างในช่วงที่อากาศร้อน
1. เป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 2. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered: CR) จากการประเมินสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2023) 3. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) จากการประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือ IUCN Red List (2015) 4. เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีหมายเลข 1 ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) (2024)
CLASS : Mammalia
ORDER : Artiodactyla
FAMILY : Cervidae
GENUS : Rucervus
SPECIES : Rucervus eldii
SUBSPECIES : thamin
อายุขัย ประมาณ 10 ปี
เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ ประมาณ 1–2 ปี ฤดูผสมพันธุ์ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์–พฤษภาคม ตัวเมียและตัวผู้จะรวมฝูงกัน ตั้งท้องนาน ประมาณ 7–8 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกแรกเกิดน้ำหนัก ประมาณ 3.5–6 กิโลกรัม จะเริ่มกินหญ้าเมื่ออายุ ประมาณ 10–15 วัน ประมาณเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน ลูกแรกเกิดมีลายจุดทั่วตัว เมื่อโตขึ้นจุดบนลำตัวค่อยจางไป หย่านมเมื่ออายุ ประมาณ 5–7 เดือน
ความยาวลำตัว (จากหัวถึงโคนหาง) ประมาณ 150–180 เซนติเมตร ความสูงที่ระดับหัวไหล่ ประมาณ 120–130 เซนติเมตร น้ำหนัก ประมาณ 125–175 กิโลกรัม หางยาว ประมาณ 20–30 เซนติเมตร
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560